แบบกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง
การเลือกซื้อความคุ้มครองตามแบบเงื่อนไข
จะมี 3 แบบเงื่อนไขให้เลือกโดยแต่ละแบบจะให้ความคุ้มครองไม่เท่ากันดังนี้
1. แบบเงื่อนไข F.P.A. (Free of Particular Average)
การประกันภัยตามเงื่อนไขนี้ให้ความคุ้มครองแคบที่สุด โดยบริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะเมื่อสินค้าได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง (Total Loss) เท่านั้น ถ้าสินค้าได้รับความเสียหายเพียงบางส่วน (Partial Loss) จะไม่ได้รับการชดใช้
2. แบบเงื่อนไข W.A. (With Average)
การประกันภัยตามเงื่อนไขนี้ให้ความคุ้มครองความเสียหายโดยสิ้นเชิง และความเสียหายบางส่วนด้วย แต่ความเสียหายบางส่วนนี้จะต้องไม่ต่ำกว่า 3% ของมูลค่าทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
3. แบบเงื่อนไข All Risks
เป็นเงื่อนไขความคุ้มครองที่กว้างที่สุด ให้ความคุ้มครองความเสียหายทั้งความเสียหายสิ้นเชิง และความเสียหายบางส่วน โดยไม่จำกัดเปอร์เซ็นต์ความสูญเสีย อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขความคุ้มครองแบบนี้ จำกัดความเสียหายทางกายภาพต่อสินค้าเท่านั้น และสาเหตุต้องมาจากเหตุการณ์ภายนอก ความเสียหายที่เกิดจากลักษณะอันเป็นการเสื่อมสภาพของตัวสินค้าเอง เช่น ผัก ผลไม้ที่บูดเน่าเองตามธรรมชาติ จะไม่ได้รับความคุ้มครอง นอกจากนี้แล้ว การล่าช้า และการสูญเสียตลาด (เช่น เรือใช้เวลาเดินทางนานผิดปกติกว่าจะถึงปลายทาง ทำให้สินค้าราคาตก เมื่อถึงปลายทาง เพราะไม่ทันกับฤดูการขาย เป็นต้น) ก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง
เงื่อนไขและขอบเขตความคุ้มครองในการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง
ในตลาดการประกันภัยทางทะเลและขนส่งประเทศไทย เงื่อนไขความคุ้มครองที่ผู้รับประกันภัยส่วนใหญ่ จัดให้แก่ผู้เอาประกันภัย มักจะยึดถือตามเงื่อนไขความคุ้มครองที่ใช้กันในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นเงื่อนไขความคุ้มครองที่จัดทำขึ้นโดย กลุ่มผู้รับประกันภัย อันได้แก่
The Institute of London Underwriters, the Liverpool Underwriters Association
และ Lloyds Underwriters Association
เงื่อนไขความคุ้มครองที่จัดทำโดยกลุ่มผู้รับประกันภัยดังกล่าวข้างต้น จะขึ้นด้วยคำว่า ‘Institute’ ซึ่งเป็นที่รู้จักแลยอมรับกันดีทั่วไป ในวงการธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ธนาคาร หรือ ตัวแทนในการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนในการประกันภัย ขนส่งสินค้าทางทะเลโดยทั่วไป มีชุดเงื่อนไขความคุ้มครอง 3 ชุด ที่เป็นที่นิยมกัน ซึ่งได้กำหนดขอบเขตความเสี่ยงภัยที่คุ้มครอง ลดหลั่นลงไปตามลำดับ ดังนี้
1. The Institute Cargo Clauses ‘C’
เป็นเงื่อนไขที่คุ้มครองการสูญเสีย หรือ ความเสียหายของสินค้าระหว่างการขนส่ง ที่เกิดจาก อัคคีภัย ภัยระเบิด เรือจม เรือเกยตื้น เรือล่ม เรือชนกัน เรือตะแคง รถพลิกคว่ำ รถชนกัน รถไฟตกราง ค่าเสียหายเฉลี่ยส่วนรวม (General Average) การสละสินค้าลงทะเลในขณะที่เรือประสบภัย (Jettison) ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการปกป้องหรือลดความเสียหายของสินค้า (Sue and Labor Charges) ค่าขนส่งสินค้าลงที่ท่าระหว่างทางซึ่งเรือใช้หลบภัย
2. The Institute Cargo Clauses ‘B’
คุ้มครองเพิ่มเติมจาก Clauses 'C' โดยครอบคลุมไปถึงการเกิดจากสาเหตุของแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฟ้าผ่าสินค้าที่ถูกคลื่นซัดตกทะเล สินค้าเสียหายสิ้นเชิงทั้งหีบห่อ ที่เกิดขึ้นขณะขึ้นลงจากเรือ หรือระหว่างถ่ายลำสับเปลี่ยนเรือ สินค้าเปียกเนื่องจากน้ำทะเลหรือน้ำในแม่น้ำจากคลื่นที่ซัดเข้าสู่ระวางเรือหรือเข้าตู้คอนเทนเนอร์
3. The Institute Cargo Clauses ‘A’
คุ้มครองเพิ่มเติมจาก Clauses 'C' และ 'B' โดยครอบคลุมไปถึงสาเหตุของ สินค้าเปียกน้ำฝน การปล้นโดยโจรสลัด การถูกลักขโมย การเสียหายระหว่างการขนส่ง เช่น แตก หัก ฉีกขาด เปื้อน ภาชนะบุบสลาย ทำให้สินค้ารั่วไหล โดยเกิดขึนระหว่างการขนส่ง และเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อยกเว้นการประกันภัยทางทะเลและการขนส่ง (Marine Insurance)
การเลือกซื้อความคุ้มครองสำหรับประกันภัยทางทะเลและขนส่ง
1. โดยการใช้หนังสือคุ้มครองชั่วคราว (Cover Note)
การใช้ Cover Note หมายถึง เอกสารที่ผู้รับประกันภัย ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่า สินค้าตามรายการที่ระบุไว้ใน Cover Note นั้น ได้รับความคุ้มครองจากผู้รับประกันภัยแล้ว ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ใน Cover Note นั้น ตามปกติผู้เอาประกันภัยควรแจ้งให้ผู้รับประกันภัยออก Cover Note ทันทีที่เปิด Letter of Credit (L/C) หรือสั่งซื้อสินค้า และเมื่อผู้เอาประกันภัยทราบรายละเอียดจำนวนหีบห่อ ชื่อเรือ วันที่สินค้าลงเรือจากผู้ขายแล้ว จึงแจ้งบริษัทประกันภัยออกกรมธรรม์ให้
2. โดยการใช้กรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิด (Open Cover หรือ Open Policy)
Open Cover หรือ Open Policy จะใช้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัย สั่งสินค้าจำนวนบ่อยครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าทุกๆ ครั้งที่มีการนำเข้า/ส่งออก สินค้าจะได้รับความคุ้มครองในทันที ซึ่งถ้าใช้วิธีออก Cover Note อาจไม่สะดวก และบางครั้งอาจลืมทำประกันภัยได้ โดยทั่วไปแล้วผู้ส่งสินค้าออกจะทำประกันเป็นกรมธรรม์ระยะยาว สัญญาคุ้มครองแบบ Open Cover อาจมีผลบังคับใช้สำหรับระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ระยะ 12 เดือน โดยมีเงื่อนไขการต่ออายุโดยอัตโนมัติ หรืออาจมีผลบังคับเรื่อยไปโดยไม่มีกำหนดจนกว่าจะมีการยกเลิก
อัพเดทล่าสุด: 27/11/2019
ที่มา: คปภ., การประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล